Sunday, 28 April 2024
เชียงใหม่

'เชียงใหม่' เผชิญหมอกควันไฟป่าหนาแน่น อากาศย่ำแย่ นายอำเภอฝาง เร่งประสานชาวบ้าน ห้ามเผาไร่

(เชียงใหม่) เชียงใหม่ยังเผชิญกับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่า รวมถึงค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นอภ.ฝาง ต้องเรียกประชุมขอความร่วมมือชาวบ้าน 15 ก.พ.-30 เม.ย. นี้ ห้ามเผาพืชไร่ต่าง ๆ รวมทั้งจะประสานไปฝั่งพม่าเพื่อให้เข้าใจปัญหาหมอกควัน ไฟป่า

วันที่ 8 ก.พ. 66 ว่าที่ร้อยตรีนพรัตน์ ศุภกิจโกศล นายอำเภอฝาง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบพื้นที่ชายแดนดอยสันจุ๊ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเขียงใหม ซึ่งมีพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลังรับแจ้งว่า พบกลุ่มควันจำนวนมากกระแสลมได้พัดมาจากทางทิศตะวันตกเข้ามายังพื้นที่อำเภอฝาง

โดย นายอำเภอฝาง กล่าวว่า สถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน ไฟป่า ในช่วงปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ทางอำเภอฝางเกิดฮอตสปอต 23 จุด ซึ่งทางอำเภอฝางและหลายหน่วยงาน เช่น ป้องกันสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันรณรงค์เรื่องไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันหมอกควันและไฟป่าในระดับตำบล หมู่บ้าน โดยจะมีการประชุมและประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือกับชาวบ้าน ในวันที่ 15 ก.พ. - 30 เม.ย. 66 จะเป็นช่วงงดเผาเด็ดขาดตามประกาศของจังหวัดเชียงใหม่

ว่าที่ร้อยตรีนพรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับอำเภอฝางนั้นมีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า ซึ่งทางศูนย์อำนวยการป้องกันหมอกควันไฟป่าของอำเภอนั้น ได้จัดชุดลาดตระเวนร่วมกับทหารกองกำลังผาเมืองในพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนเพื่อเฝ้าระวัง โดยจากที่ขึ้นมาสังเกตการณ์วันนี้ก็จะพบหมอกควันจำนวนหลายจุดอย่างชัดเจน ที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านและประกอบกับทิศทางลมลมพัดที่เข้ามาฝั่งบ้านเรา ทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมในพื้นที่ โดยจะประสานงานในระดับนโยบายเพื่อทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านถึงปัญหาหมอกควันไฟป่า

ทั้งนี้ยังจะมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น เลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายาก และคาดว่าสูญพันธุ์ไปจากพื้นป่าด้านอำเภอฝางมานานแล้ว ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกว่า ได้พบตัวเลียงผาดังกล่าวจำนวนหลายตัว รวมไปถึง เก้ง หมูป่า และอีกหลายหลายชนิด หนีไฟป่าจากประเทศพม่าเข้ามาในฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/north/2624010

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ขึ้นเหนือติดตามโครงการประกวด สุดยอดกาแฟไทย พร้อมหนุนเทคโนโลยีการผลิต ดันกาแฟไทยสู่สากล

(เชียงใหม่) อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาเชียงใหม่ ติดตามโครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2566 เยี่ยมแปลงกาแฟอาราบิกาอินทรีย์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการตัดแต่งกิ่ง และทำความสะอาดแปลง และแจกชีวภัณฑ์แก่เกษตรกร

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ภาคเหนือ ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการปลูกและพัฒนากาแฟทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อมโยงตลาดนำการผลิต นำการวิจัย โดยบรูณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด โครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ฯลฯ พร้อมกับติดตามแปลงปลูกกาแฟอาราบิกาของเกษตรกร นายอานนท์ พวงแสน ณ บ้านปางบง ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 กาแฟอาราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้งในกาแฟประกวดสุดยอดกาแฟไทย ที่จัดขึ้นโดยกรมวิชาการการเกษตร ในปี 2565 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังติดตามแปลงกาแฟอาราบิกาอินทรีย์ และกระบวนการแปรรูปกาแฟอาราบิกาอินทรีย์ ณ The First Valley Coffee Academy บ้านแม่ตอนหลวง ต.เทพเสด็จ จ.เชียงใหม่ ของ นายเอก สุวรรณโณ กรรมการการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 และผู้เชี่ยวชาญการแปรรูปกาแฟ ที่ใช้หลักตลาดนำการผลิต จนได้รับรองมาตรฐาน USDA Organic ผลผลิตไม่พอต่อความต้องการของตลาด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทส่งเสริมองค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตกาแฟอาราบิกาคุณภาพ เช่น การปลูกและการดูแลรักษา การจัดการปุ๋ยและน้ำ การขยายเชื้อราบิวเวอร์เรีย สายพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร (DOA-B18) เพื่อป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอัตรา 400 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับการตัดแต่งกิ่ง การทำความสะอาดแปลง ทั้งนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แจกเชื้อราบิวเวอร์เรียและอุปกรณ์ให้เกษตรกร นายก อบต. และกลุ่มสหกรณ์ด้วย

AOT เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023

(เชียงใหม่) วันที่ 14 ก.พ. 66 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมี พลอากาศเอก ภานุพงศ์ เสยยงคะ กรรมการ AOT เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ พร้อมด้วยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT รวมถึงผู้บริหาร AOT ผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้พันธมิตรเครือข่ายทางการบิน และการท่องเที่ยวจากทั่วโลกร่วมงานประชุมฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่) จังหวัดเชียงใหม่

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จํานวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ลดลงจาก 142 ล้านคนในปี 2561 เหลือเพียง 72 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วระหว่างปี 2563 - 2565 ปริมาณผู้โดยสารลดลงในอัตราร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารรวมในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 การเดินทางของผู้โดยสารมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลอดจนสายการบินกลับมาทำการบินในเส้นทางบินเดิม และเพิ่มเส้นทางบินใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการบินและธุรกิจท่องเที่ย วให้สามารถฟื้นตัวและดำเนินกิจการได้ดีขึ้น ดังนั้น การจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างท่าอากาศยาน สายการบิน หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนกว่า 800 ราย ได้มีโอกาสพบปะ เจรจา แลกเปลี่ยนมุมมอง และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเครือข่ายทางการบินและการดำเนินธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาการบริการในอนาคตที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ งานประชุมฯ ยังเป็นการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางการบิน (Route Networks) และการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งจะส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน การแสดงความเชื่อมโยงของระบบขนส่ง การแสดงความพร้อมในการรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

วันนี้ เมื่อ 37 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่ ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เกิดจากความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับกรมชลประทาน โดยกรมชลประทานรับผิดชอบในการสร้างเขื่อนและอาคารประกอบต่างๆ ส่วน กฟผ. รับผิดชอบโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า “เขื่อนแม่งัด” มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ร่วมมือกันดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มการศึกษาโครงการ จนกระทั่งการก่อสร้างงานต่างๆ ตามโครงการได้สำเร็จลงด้วยดี

'วิชัย ทองแตง' ปั้นภาคีเครือข่าย 'รัฐ-เอกชน'  ดึงกว่า 50 องค์กร ร่วมใจพลิกเชียงใหม่ไร้ฝุ่น PM 2.5

'หยุดเผา เรารับซื้อ' หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 'ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน' ผ่านการร่วมกันคิดและทำให้สำเร็จ ด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร สกัดการเผาทำลายซังข้าวโพด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิด PM 2.5 โดยนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต ด้วยมาตรฐานระดับโลกที่โรงงานต่างๆ ทั่วโลก ที่พร้อมจะรับซื้อต่อไปได้

(12 ก.ค. 66) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนและกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน สำคัญที่สุดในอันที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของพี่น้อง ลูกหลานเราโชคดีเหลือเกินที่เรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏเหมือนที่ใดมาก่อนเหมือนในวันนี้”

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “พวกเราประจักษ์รู้ในความเป็นจริงกันทุกคนว่าแท้จริงแล้ว มันเกิดจากฝีมือมนุษย์เราเอง การเผาป่า เรือกสวน กิ่งไม้ ไร่นา เพื่อพลิกฟื้นผืนดินทำกินของพวกเรากันเอง นั้นเกิดประโยชน์มหึมาแต่ก็เกิดโทษมหาศาล ทางอบจ.เราเองได้จัดงบลงไปปีละหลายสิบล้าน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 บรรเทาทุกข์ให้กับชาวเชียงใหม่ ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ชาวเชียงใหม่จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งถือเป็นการแสดงครั้งสำคัญของพวกเรา” 

ด้าน คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจผู้มีแรงบันดาลใจที่มุ่งหวังให้ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือปลอด PM 2.5 ได้กล่าวว่า “ภาคีเครือข่ายนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชาวเชียงใหม่ พวกเราต้องเป็นแกนนำผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของเชียงใหม่และของประเทศไทย อยู่ที่ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าไปพร้อมกันในวันนี้ และถือเป็นครั้งแรกที่วันนี้ได้มารวมตัวกัน แม้ผมจะเป็นผู้ริเริ่มแต่การผลักดันให้สำเร็จก็อยู่ที่ท่านทุกคน และผลของความสำเร็จก็จะตกอยู่ที่ชาวเชียงใหม่และประเทศชาติของเรา”

ด้าน ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด กล่าวว่า “ผมเล็งเห็นว่าการที่เกิดปัญหา PM 2.5 เยอะขนาดนี้ แสดงว่าชีวมวลก็เยอะเช่นกัน ทีมงานจึงได้ลงสำรวจพื้นที่ในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมแหล่งผลิตชีวมวล ในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่ อ.จอมทอง เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตร พร้อมขยายเพิ่มอีก 3 จุดในภาคเหนือ  โดยนำไปใช้ในอุตสหกรรม เพื่อพลังงานทดแทนสะอาด เป็นชีวมวลอัดเม็ดพร้อมคาดหวังให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายได้กระจายสู่ชุมชน ถือเป็นความพยายามของภาคเอกชนโดย บริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ยินดีให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเชียงใหม่เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ให้ได้อย่างยั่งยืน”

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต กล่าวว่า “ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่ แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

หลังจากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ เราจะร่วมใจกันอย่างไรให้เชียงใหม่หมด PM 2.5 โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ คุณชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ บริษัท แอทเซส เวิล์ด คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต , คุณอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ , ดร.ณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ , คุณชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย ประจำปี 2566 , ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด พร้อมฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่าย นับเป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายที่น่าประทับใจ และพร้อมที่จะพลักดัน หยุดเผา เรารับซื้อ ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นลำดับต่อไป

สนใจนำเศษซาก ตอซังข้าวโพด เข้าร่วมโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ ของบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0934165953


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. North Time Thailand
Take Me Top