Friday, 17 May 2024
นอร์ทไทม์

14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวัน ‘พระบิดาแห่งฝนหลวง’ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

67 ปีแห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 เป็นวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรางมีทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในฐานะทรงเป็น 'พระบิดาแห่งฝนหลวง' และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และจารึกไว้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย       

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทำให้ทรงพบเห็นว่า ภาวะแห้งแล้งได้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะการตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ ส่งผลถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี  

ทั้งนี้ ระหว่างทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศยาน พระองค์ทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกได้ 

22 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ท่อนซุงและโคลนถล่ม ‘กะทูน’ อ.พิปูน โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ

ย้อนไปเมื่อ 34 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ หลังฝนตกหนักพัดพาดินโคลนและท่อนซุง ถล่มหมู่บ้านในตำบลกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช คร่าชีวิตหลายร้อยคน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเหตการณ์ดินโคลนและท่อนซุงที่ไหลมากับน้ำถล่มบ้านเรือนเสียหายไปกว่า 1,500 หลัง พื้นที่การเกษตรอีก 6,150 ไร่ มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน ผู้คนที่รอดชีวิตต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้อีก

ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นราว 3-4 วัน ได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาซับน้ำไว้จนชุ่มโชก และเมื่อฝนยังเพิ่มปริมาณน้ำอีกไม่หยุด ดินที่รับน้ำหนักไว้มากจนเกินกำลัง ก็ลื่นไถลลงมาตามทางลาด ทำให้ดินที่อยู่ด้านล่างต้องถล่มลงมาด้วย พร้อมต้นไม้ป่าและต้นยางพาราที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกไว้บนเขาถูกถอนรากถอนโคน กลายเป็นอาวุธของกระแสน้ำกวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนไปกับกระแสน้ำ อีกทั้งยังมีโคลนดินตามมาถล่มทับ

นอกจากนี้ ตำบลกะทูนซึ่งภูมิประเทศเป็นแอ่งรับน้ำมีพื้นที่ 70 ตารางกิโลเมตรนี้ มีลำธารหลายสายรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบมารวมลงในคลองกระทูน แต่มีทางน้ำไหลออกกว้างเพียง 70 เมตรเท่านั้น เมื่อถูกต้นไม้บนเขาและไม้ในสวนที่ชาวบ้านปลูกไหลมาปิดทางน้ำออก ระดับน้ำในแอ่งกะทูนจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกชีวิตไว้ใต้น้ำ

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ก่อตั้ง โรงเรียนเกษตราธิการ ต้นกำเนิดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ วังประทุมวัน โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452

ต่อมาโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการจึงย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ. 2456 โดยใช้ วังวินด์เซอร์ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน)

นายกฯเดินหน้าโหมโรงใกล้เลือกตั้ง

‘บิ๊กตู่’ มอบรางวัลองค์กรเป็นเลิศบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง กำชับทุกส่วนราชการใช้เงินภาษีทุกสตางค์คุ้มค่า-โปร่งใส-ตรวจสอบได้ ลั่นไม่อยากทิ้งภาระไว้ให้ใคร ‘ยัน’ไม่ต้องการทำเพื่อการเมือง แต่ทำเพื่อประเทศ-ปชช. ย้ำรับฟังจากทุกคนไม่ใช่ใช้อำนาจชี้นิ้วสั่ง

เมื่อเวลา 09:30 น. วันที่ 1 ธ.ค. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม​ เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 44 หน่วยงาน และ 7 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 103 รางวัล

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าสร้างความภาคภูมิใจให้แก่หน่วยงาน ซึ่งกรมบัญชีกลางมีความสำคัญมากในการผลักดันหน่วยงานของรัฐปฏิบัติภารกิจไปแนวทางเดียวกัน เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนการบริหารจัดการการเงินการคลังของภาครัฐในภาพรวมให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนตลอดมา โดยยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ความถูกต้องในกฎกติกาอย่างเคร่งครัด

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมคาดหวังให้ส่วนราชการปฏิบัติด้วยเต็มกำลังความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต ใช้งบประมาณจากเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตนในฐานะนายกฯ ผู้นำฝ่ายบริหาร นอกจากคาดหวังให้ทุกส่วนราชการและข้าราชการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน สมความคาดหวังของประชาชนคนไทยทั้งประเทศแล้ว ตนยังคาดหวังให้การบริหารการเงินการคลังของภาครัฐบูรณาการเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ลดความผิดพลาด ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ให้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ขอให้ทุกหน่วยงานมุ่งมั่นตั้งใจในการรักษาระดับมาตรฐานให้มีประสิทธิภาพสูงต่อไป เพื่อนำไปสู่การยกระดับการทำงานของภาครัฐในภาพรวมต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ก่อนจบตนขอพูดส่วนตัวถึงบรรยากาศวันนี้กับเมื่อวานคนละบรรยากาศ ซึ่งเมื่อวาน (30 พ.ย.) ตนลงไปเยี่ยมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้พบกับประชาชนเกษตรกรชาวไร่ชาวนาและท้องถิ่น ถึงระดับกำนันผู้ใหญ่บ้านและน่วยงานต่างๆ ได้มีการพูดคุยกันเรื่องการปรับโครงสร้างการเกษตรของเราให้ดีขึ้นให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงทั้งขั้นตอนตลอดจนห่วงโซ่

"เมื่อวานได้ไปเยี่ยมชมในพื้นที่จริงเห็นความก้าวหน้า เป็นสิ่งที่เราและผมต้องทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีตรงนี้ ในฐานะที่ผมบริหารในภาพรวมตรงนี้คือหน่วยงานข้าราชการทั้งหมดในสังกัดของรัฐบาล ทุกกระทรวง ทุกกรมและทุกหน่วยงานเทียบเท่ามากมายนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เข้ามารับรางวัล ผมอยากมอบรางวัลให้ครบทุกหน่วยงานด้วยซ้ำไปกี่ร้อยหน่วยงานก็พร้อมยินดีจะมอบ ขอทุกคนเพียงช่วยกันทำ ถ้าเทียบสัดส่วนกันแล้วในส่วนที่รับรางวัลไม่ว่าจะดีเยี่ยม ดีเลิศ ยังเป็นสัดส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งแต่ผมอยากมอบให้กับทุกหน่วย" พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า วันนี้เราได้รับการชื่นชมหลายอย่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริหารการเงินการคลังของเราได้รับความชื่นชมและความเชื่อมั่นมากมาย ซึ่งยิ่งต้องทำตัวเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้ดีกว่านี้ ไม่มีอะไรดีที่สุดเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สถานการณ์โลกก็เปลี่ยน กฎระเบียบของโลกใบนี้ซึ่งเป็นโลกใบเดิมแต่เป็นกฎระเบียบโลกใหม่ที่มีการจัดระเบียบมากมาย เราจำเป็นต้องนำทุกอย่างมาวิเคราะห์พิจารณาว่าจะพัฒนาหน่วยงานของเราอย่างไรให้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะล้วนมีผลด้วยกันทั้งสิ้น

"ขอให้ทุกคนรักษาความดีนี้ไว้ ไม่มีใครรู้เท่ากับเรารู้ตัวเองว่าเราทำงานดีหรือไม่ดีอย่างไร สิ่งต่างๆจึงเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนโดยรวมและต้องสร้างความรักของประเทศให้ทุกคนได้มั่นใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เขาให้ความเชื่อมั่น"นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และพันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รอง จตช. และผู้บริหารของทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือระบบตัดแต้ม และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างระบบดังกล่าว ให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ กำหนดไว้ใน “ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565” ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 142/1 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566 ซึ่งจะเป็นมาตรการเสริมในการสร้างวินัยการขับขี่เพิ่มเติมจากการออกใบสั่งเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามปกติ ภายใต้สโลแกน “มุ่งเน้นการสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัย ให้โอกาสแก้ไขไม่กระทำผิดซ้ำ สร้างความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเป็นมาตรฐานสากล”

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า สาระสำคัญของระบบนี้ คือ กำหนดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่แต่ละราย จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน  (ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม) หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 
การตัดคะแนน 
1) กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ (20 ฐานความผิด) จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที โดยความผิดในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
 - ตัด 1 คะแนน  เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
 - ตัด 2 คะแนน  เช่น  ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)  
 - ตัด 3 คะแนน  เช่น ขับรถชนแล้วหนี 
 - ตัด 4 คะแนน  เช่น เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด 
2) กลุ่มความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จำนวน 42 ฐานความผิด ตามบัญชีท้ายระเบียบ ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง จอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น 

วิธีการตัดคะแนนนั้น จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง  

การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
- หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน  จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156  
- หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน  และหากยังถูก
สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

รมว.สุชาติ ส่ง ผู้ช่วยฯ เปิดประชุมวิชาการประกันสังคม เร่งขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานทุกมิติ ฟื้นเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว ภาคเหนือ

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดงานประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ประจำปี 2565 (ภาคเหนือ) Modernizing SSO 2022 : ก้าวสู่ระบบประกันสังคมที่ทันสมัย พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการพัฒนา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน” โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ ณ โรงแรม คุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานช่วยดูแลพี่น้องแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการให้เหมือนคนในครอบครัว พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ โครงการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โครงการ Factory Sandbox โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด 29 จังหวัด โครงการเยียวยาผู้ประกันตนกิจการสถานบันเทิง โดยสถานการณ์ปัจจุบันโควิด-19 ได้คลี่คลายลง รัฐบาลมีนโยบายผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก ในจังหวัดเชียงใหม่ และทุกจังหวัด ทางภาคเหนือได้กลับมาคึกคัก ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ส่งผลดีให้พื้นที่เศรษฐกิจและการมีงานทำของกำลังแรงงานในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น ในวันนี้ ผมได้มีโอกาสมาเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ปี 2565 เป็นครั้งที่ 3 (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ ผมมีความเชื่อมั่นว่าการประชุมวิชาการประกันสังคม และที่จัดต่อๆ ไปอีกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี จะเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจความสำคัญของงานประกันสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนางานประกันสังคม จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การขยายผลด้านสิทธิประโยชน์ให้มีความยั่งยืน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ของผู้ประกันตน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป

ปตท. จัดงาน ‘Gas Grows Zerotopia 2022’ ส่งเสริมอุตฯ ไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพจัดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการ Gas Grows Zerotopia 2022 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมี ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นางสุณี อารีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ พร้อมให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการพลังงาน รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรให้กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลดภาระต้นทุนในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวน โดย ม.ล. ปีกทอง ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘สถานการณ์พลังงานและแนวทางการนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero’ 

ทั้งนี้ ปตท. ในฐานะประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) มุ่งหวังสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ในการตระหนักและผลักดันทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ปตท. มอบรางวัล การประกวดการพัฒนา - รณรงค์ใช้ ‘หญ้าแฝก’ เพื่อเป็นแบบอย่างการอนุรักษ์ดิน-น้ำอย่างยั่งยืน

ปตท. จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2563 - 2565

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 12 (ประจำปี 2563 - 2565) ภายใต้แนวคิด ‘รักษ์น้ำ ป่า ดิน ด้วยแฝกองค์ภูมินทร์ ฟื้นถิ่น ยั่งยืน’ ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรร่วมจัด ได้แก่ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการขยายผลการปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน

การจัดการประกวดครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยได้รับโล่พร้อมรับเกียรติบัตรจากองค์กรร่วมจัด โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภทผลงาน คือ

4 ธันวาคม ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสิ่งแวดล้อมไทย

วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก เมื่อครั้งเสด็จออกให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลา ดุสิดาลัย พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เพื่อตรัสเตือนคนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า

“วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่า เมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือจะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลข เหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมากแล้วที่ใช้จริงๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่ อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ น้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี คือ น้ำนั้นมีคุณอย่างที่เราใช้สำหรับบริโภค น้ำสำหรับการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่าน้ำที่สะอาด”

“น้ำมีมากในโลก เป็นน้ำทะเลส่วนใหญ่ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีมากขึ้นก็คือ น้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า น้ำเน่าจะมีอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้น นี่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ แล้วก็ถ้าไม่จัดการโดยเร็วเราจะนอนอยู่ในน้ำเน่า น้ำดีจะไม่มีใช้แม้จะไปซื้อน้ำจากต่างประเทศมา ก็กลายเป็นน้ำเน่าหมด เพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง”

“ถ้าเรามีน้ำแล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างดีอีกข้อหนึ่ง ก็อยู่ได้ เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทย ‘ยังให้’ ใช้คำว่า ‘ยังให้’ ก็หมายความว่า ยังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ ไม่ใช่ไม่เหมาะ ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ไม่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทรายก็ป้องกันได้ ทำได้”

5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และภายหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีใจความสำคัญให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้ 

1. เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

2. เป็นวันชาติ 

3. เป็นวันพ่อแห่งชาติ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป 


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. North Time Thailand
Take Me Top