องค์กรเอกชน จ.ตาก หวั่น เด็ก-เยาวชนข้ามชาติ ไม่ได้รับการศึกษา ไร้ที่อยู่อาศัย ก่อปัญหาอาชญากรรม และไร้การขัดเกลาจิตใจ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นายนพเรศ พันธุ์นรา อธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ได้เป็นประธานในพิธีเสวนา และการประชุมคณะกรรมการคณะผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน และครอบครัวภาค 6 ครั้งที่ 1/2566 ในหัวข้อปัญหาพฤติกรรม และการกระทำความผิดของเด็ก และเยาวชนข้ามชาติ ชายแดนจังหวัดตาก โดยมีนายนายยุทธพงศ์ ภูรีเสถียร พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแม่สอด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชน และครอบครัวจังหวัดตาก อีกตำแหน่งหนึ่งกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน

โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมและเข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 คณะผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน และครอบครัวภาค 6 ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลเยาวชน และครอบครัวภาค 6 และนักเรียนโรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมทั้งสิ้น จำนวน 80 คน

การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาด้านพฤติกรรม และการกระทำผิดของเด็ก และเยาวชนชายแดนจังหวัดตาก เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูที่มีความเหมาะสมต่อสภาพร่างกาย และจิตใจในการเตรียมความพร้อมสำหรับคืนเด็ก และเยาวชนกลับสู่สังคมเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กและเยาวชนชายแดนจังหวัดตาก มีโอกาสได้เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนในการทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง และสังคมโดยรวม

รวมทั้งการให้ผู้พิพากษาสมทบ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน และเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะของผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน และครอบครัวภาค 6 ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สำหรับวิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนาคือ นายกิตติ อินนาคกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดแม่สอด, นางปัณณภัสร์ อมรพีรสิทธิ์ ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน และครอบครัวจังหวัดตาก (แม่สอด), นายเศรษฐ์ อินทร์สุวรรณ์ ผู้อำนวยการสถานพินิจ และคุ้มครองเด็ก และเยาวชนจังหวัดตาก, นางศิราพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน และนางสาวดาราราย รักษาสิริพงศ์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์เยาวชน Smile-Lay

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ร่วมบนเวทีเสวนา กล่าวว่า มีแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาใน อ.แม่สอด จังหวัดตาก จำนวนมากที่ทำงานรับจ้างในชุมชนเทศบาลแม่สอด เช่น ทำงานที่รับใช้ในบ้าน ทำงานภาคเกษตร และงานก่อสร้าง และยังมีคนอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้นับรวมเป็นประชากร คือ ชาวเมียนมาที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ 9 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัด แต่ที่จังหวัดตากมีทั้งหมด 3 แห่ง มีประชากรจำนวนกว่า 50,000 คน เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยทั้งหมดในประเทศไทย

ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทย เป็นรุ่นที่ 3 แล้วประมาณ 30 ปี ขณะที่ในส่วนของเด็กเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในไทยนั้น มีสิทธิ์เข้ารับการศึกษาในประเทศไทยได้ และนอกจากนี้ยังมีตัวเลขเด็กเยาวชนจำนวน 17,000 คน อยู่ในสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน และยังมีกลุ่มที่ไม่มีฐานะทางทะเบียนอีก ซึ่งเมื่อเทียบกับเด็กไทยแล้ว จำนวนครึ่งต่อครึ่งของนักเรียนทั้งหมด และยังมีเด็กที่เรียนศูนย์การเรียนรู้ของชาวเมียนมา อีกจำนวน 65 แห่ง มีเด็ก จำนวนกว่า 11,150 คน รวมเด็กที่ไม่มีฐานนะทางทะเบียนที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของรัฐ และตามศูนย์การเรียนรู้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 53 ของเด็กที่อยู่ในวัยเรียนทั้งหมด

ซึ่งแสดงถึงเด็ก และเยาวชนข้ามชาติเข้ามาอยู่ค่อนข้างเยอะ และยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่มีฐานะทางทะเบียน และไม่ได้เข้ารับการศึกษาเลย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุดในการที่ไปก่อปัญหาต่าง ๆ เช่นปัญหาอาชญากรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้นำคลิป เป็นบทสัมภาษณ์เยาวชนที่ผ่านกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนมากมีปัญหาทางครอบครัว และปัจจัยอื่น ๆ

ด้านนายยุทธพงศ์ ได้กล่าวบนเวทีเสวนาว่า มีคนต่างชาติเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และที่เป็นปัญหาคือ หลังจากกระบวนการทางคดีแล้วเสร็จ สำหรับเด็ก และเยาวชน คือ การติดตามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก

ที่มา : https://www.77kaoded.com/news/zawjojo/2393588