‘ศักดิ์สยาม’ ลงนามตั้ง 10 คณะกรรมการ สอบปมเปลี่ยนป้ายชื่อ ‘สถานีกลางบางซื่อ

(5 ม.ค. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว

โดยประกาศเนื้อหาระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) และ เว็บไซต์ข่าว เกี่ยวกับการลงนามในสัญญาจ้างการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีมูลค่าสูงถึง 33 ล้านบาทเศษ (วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจำนวน 34 ล้านบาท) มีราคากลางคำนวณ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2566 จำนวน 33,169,726.39 บาท โดยใช้วิธีการจัดซื้อหรือจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้ที่ได้รับ การคัดเลือกและราคาที่ตกลงซื้อหรือจ้าง ได้แก่ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ

เป็นเหตุให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณ รวมถึงนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่เหตุของความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการว่าจ้างเอกชนด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสูญเสียงบประมาณในการว่าจ้างปรับปรุงป้ายชื่อที่มีมูลค่าสูงเกินกว่าปกติ

ทั้งนี้ หากดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีการประกาศเชิญชวนหรือวิธีการคัดเลือกก่อนจะทำให้การใช้งบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างเหมาะสมเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวว่า ได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร และการใช้งบประมาณเหมาะสมกับปริมาณงาน และราคากลางของกรมบัญชีกลางหรือไม่ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาลและรักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

1.นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ

2.นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง

3.ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสทฺ)

4.ผู้แทนสภาสถาปนิก

5.ผู้แทนสภาวิศวกร

6.ผู้แทนกรมบัญชีกลาง

7.ผู้อำนวยการกองกฎหมายสํานักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

8.ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สํานักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

9.ผู้อำนวยการกองกฎหมายกรมการขนส่งทางราง

10.ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งปวงที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการฯ ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย รวมถึงให้คณะกรรมการฯ เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดทั้งพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมจัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯสั่งแต่งตั้ง ชุดนี้ต่อไป

ที่มา: https://www.thaipost.net/x-cite-news/296891/