Friday, 29 March 2024
ECONBIZ NEWS

ปตท. แข็งแกร่งระดับสากล ติดอันดับดัชนีความยั่งยืน DJSI 11 ปีต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าธุรกิจสู่พลังแห่งอนาคต

ปตท. ติดอันดับดัชนีความยั่งยืน DJSI ถึง 11 ปีอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าดำเนินงานตามแผนธุรกิจมุ่งสู่พลังแห่งอนาคต

วันนี้ (12 ธันวาคม 2565) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI กลุ่มดัชนีโลก (World Index) รวมถึงดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 และยังเป็นองค์กรชั้นนำของอุตสาหกรรมในกลุ่ม Oil & Gas Upstream & Integrated (OGX) อีกด้วย สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ปตท. ผ่านการกำหนดทิศทางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกที่แปรเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของ ปตท. 

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร ในขณะเดียวกัน ปตท. ยังคงยึดมั่นการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีธรรมาภิบาล รวมทั้งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในระดับสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond”

ปตท. - Envision ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มจัดการพลังงานอัจฉริยะ ผลักดันสังคมไทยปลอดก๊าซเรือนกระจก

กลุ่ม ปตท. ร่วมกับ Envision พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ มุ่งผลักดันเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

เมื่อวานนี้ (9 ธันวาคม 2565) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ENVISION DIGITAL INTERNATIONAL PTE. LTD. บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อลดคาร์บอน ภายใต้กลุ่มบริษัท Envision ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) Collaboration in Future Energy Transition by Decarbonization Platform ศึกษาและทดลองการใช้งานแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ภายในพื้นที่ของกลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี2050 โดยมี ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน คุณเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. Ko Kheng Hwa ประธานกรรมการ Envision Digital ร่วมในพิธีลงนาม

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะเพื่อตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงาน รวมถึงประเมินความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ทดลองของโครงการ โดยได้ริเริ่มนำแพลตฟอร์ม EnOSTM ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ AloT ของ Envision Digital มาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงานหมุนเวียนภายในอาคารต้นแบบ M4 ที่สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จ.ระยอง ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำ แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าภายในวิทยาเขตของสถาบันฯ โดยสามารถตรวจสอบและควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำมาปรับใช้งานทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้อาคารดังกล่าวเป็นอาคาร Zero Import ทั้งหมด ซึ่งในอนาคต หากประสบความสำเร็จก็จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

พาณิชย์ กางแผนเจาะตลาดส่งออก 3 กลุ่ม ตั้งเป้า 2 ล้านล้าน!!

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 เวลา 11.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อหารือร่วมกันทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าพร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนภาคเอกชน ที่ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุม กรอ.พาณิชย์ มีภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อเตรียมการส่งออกปีหน้ารองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มชะลอตัวและปัญหาอื่น ๆ เช่น ประเด็นที่หนึ่ง ปี 64 เศรษฐกิจ โลก +6% ในปีนี้ IMF คาดว่ามีแนวโน้ม +3.2% และปีหน้ามีแนวโน้ม +2.7% ซึ่งจะชะลอตัวในปีหน้าชัดเจน

ประเด็นที่สอง ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลกระทบต่อราคาพลังงานและความมั่นคงทางอาหารของโลก ประเด็นที่สาม นโยบายซีโร่โควิดของจีน ที่จีนเป็นคู่ค้าลำดับหนึ่งของไทย เป็นตลาดส่งออกลำดับใหญ่อันดับสองของไทย ประเด็นที่สี่ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท มีผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อนำมาผลิตส่งออกต่อไป และประเด็นที่ห้าทั้งหมดนี้จะมีผลกระทบต่อการส่งของไทยในปีหน้า

เศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่องหลังคลายล็อกโควิด "หอการค้าไทย' คาด ปีใหม่เงินสะพัดแสนล้านบาท!!

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 47.9 เป็นผลมาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5

ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกมาจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโควิด 19 รวมถึงนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผ่อนคลายมากขึ้น โดยมีการปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาจากแนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชนที่มากขึ้น การลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ปตท. คว้า 3 รางวัล ASEAN CG Scorecard ประจำปี 2564 สะท้อน!! ‘กิจการดี-มีธรรมาภิบาล-นักลงทุนปลื้ม’

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในอาเซียน (ASEAN CG Scorecard) ประจำปี 2564 โดยมีนายชฎิล ชวนะลิขิกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารศักยภาพองค์กรและธรรมาภิบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ารับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้แก่บริษัทจดทะเบียนในอาเซียน ที่ดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่ง ปตท. ได้รับจำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย…

- รางวัล ASEAN Asset Class PLCs สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ได้คะแนนการประเมินตั้งแต่ร้อยละ 75 หรือคิดเป็น 97.50 คะแนนขึ้นไป 
- รางวัล ASEAN Top 20 PLCs สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 20 อันดับแรกในระดับภูมิภาคอาเซียน
- และรางวัล Country Top 3 PLCs สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศไทย 

Swap & Go - Stallions Group ผนึกกำลังส่งเสริมประเทศใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายพิกัดสับเปลี่ยนแบตฯ ดันสังคมไทยไร้มลพิษ

Swap & Go จับมือ Stallions Group เดินหน้าส่งเสริมการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายเครือข่าย Battery Swapping ทางเลือกใหม่เพื่อสังคมไร้มลพิษ

(8 ธ.ค. 65) นางสาวอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) และนายธีรเจต ลาภจตุรพิธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาเลียน มอเตอร์ไซค์เคิล จำกัด (Stallions) เปิดตัวโครงการความร่วมมือส่งเสริมการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายเครือข่าย Battery Swapping หรือสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ สร้างทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย ถือเป็นกลไกสำคัญที่สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศ และเป็นการขยายผลจากต้นแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ต้องรอชาร์จของ Swap & Go ที่ได้พัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่มีพลังงานสูงขึ้น รองรับการขยายตัวของผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

เชียงใหม่-ม.แม่โจ้ จัดงาน Maejo Innovation day 2022 ลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย พร้อมประกาศเกียรติคุณผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 09.30 น. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร (MAP) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดให้มีกิจกรรม Maejo Innovation day 2022 พร้อมพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย และพิธีมอบรางวัลด้านทรัพย์สินทางปัญญา ให้กับนักวิจัยและหน่วยงานที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดี เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้องข้าวหอมมะลิ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Maejo Innovation day 2022 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดโดยการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงธุรกิจ โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาจากผลงานวิจัย ให้สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผ่านช่องทางการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยถือเป็นการประกาศเกียรติคุณสำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการที่มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้มีนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ไปสู่ภาคธุรกิจอย่างมีศักยภาพ มีการเสวนาในหัวข้อ “เทรนด์การทำวิจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

โอกาสเดียวกันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานมอบรางวัลด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับหน่วยงาน/นักวิจัย ที่ได้ยื่นขอรับความคุ้มครองมากที่สุด ดังนี้

นักวิจัยที่ยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรมากที่สุด ได้แก่
1. รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร จันทร์ฉาย สังกัด มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
2. รองศาสตราจารย์ ร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล สังกัด คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ

หน่วยงานที่ยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรมากที่สุด ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐปน ชื่นบาล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์

เชียงใหม่-อบจ.เชียงใหม่ ชวนเที่ยวงาน “CHARMING Chiang Mai Flower Festival 2023” แสง สี ศิลป์ มนต์เสน่ห์ดอกไม้งาม

อบจ.เชียงใหม่ แถลงข่าวความคืบหน้าการจัดงาน ”มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม ประจำปี 2565 “(CHARMING Chiang Mai Flower Festival 2023) ภายใต้แนวคิด “Miracle Flora” แสง สี ศิลป์ มนต์เสน่ห์ดอกไม้งาม ระหว่าง 16 ธันวาคม 2565-2 มกราคม 2566

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เวลา 17.00 น. นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมการแถลงข่าว ”งานมนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม ประจำปี 2566” (CHARMING Chiang Mai Flower Festival 2023) “Miracle Flora” พร้อมด้วย นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เป็นนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีแหล่งท่องเที่ยวหลัก 3 ด้าน คือแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีความงดงาม ความโดดเด่น ความล้ำค่าและความเลื่องลือในหลาย ๆ ด้าน และหนึ่งในนั้นคือ ความงดงาม ทางด้านประเพณีและวัฒนธรรม, แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีชื่อเสียงด้านวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและภูเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยป่าเขตร้อนที่เขียวขจี เป็นแหล่งที่อยู่ของหมู่บ้านชาวเขาหลายกลุ่ม เป็นเมืองสำคัญทางภาคเหนือและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางสำรวจจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในภาคเหนือ และแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่มีการส่งเสริมและรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดรายการท่องเที่ยวพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้วิธีใช้พลังงานจากธรรมชาติมาบำบัดรักษา และสร้างเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ด้วยนโยบายการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้เน้นการสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการตลาด จึงเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดงานมนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม ประจำปี 2566 (CHARMING Chiang Mai Flower Festival 2023) ภายใต้แนวคิด “Miracle Flora” แสง สี ศิลป์ มนต์เสน่ห์ดอกไม้งาม ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2565–2 มกราคม 2566 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณทิศตะวันออกของหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (ด้านหลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่)

เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสภาพลักษณ์ที่ดีงามในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หลากหลายเหมาะสมกับแต่ละเทศกาลและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมโยงและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สังคม ประชาชน และชุมชนด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่

สุพัฒนพงษ์ แจง ครม.คืบ ผลถก รมต.พลังงานอาเซียน ซื้อขายไฟฟ้า เชื่อมโยงท่อก๊าซข้ามพรมแดน

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 40 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 13-16 กันยายน 2565 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม โดยสรุปสาระสำคัญที่ประชุม รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมฯ ได้แก่

1.ด้านไฟฟ้า มีการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (รวม 16 โครงการ ณ เดือนกันยายน 2564) โดยมีกำลังไฟฟ้าที่ถ่ายเทระหว่างประเทศสมาชิกรวม 26,644-30,114 เมกะวัตต์ และดำเนินโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้สำเร็จ โดยกำหนดปริมาณการซื้อ-ขายไฟฟ้าสูงสุดที่ 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง ระหว่างปี 2565-2566

2.ด้านก๊าซธรรมชาติ มีการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซอาเซียน มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดก๊าซร่วมสำหรับภูมิภาค การขยายการเชื่อมโยงและการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติ และการติดตามความคืบหน้าในการพัฒนาท่อส่งก๊าซข้ามพรมแดน

3.ด้านถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด มีจัดการประชุมของผู้แทนระดับสูงอาเซียน เมื่อวันที่  10 สิงหาคม 2565 เพื่อรวบรวมแนวทางและนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยี ลำดับ ชื่อเรื่อง สาระสำคัญ ข้อเสนอแนะ ถ่านหินสะอาด และเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บ และการใช้ประโยชน์คาร์บอน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านถ่านหินของอาเซียนให้เป็นทิศทางเดียวกัน

4. ด้านพลังงานหมุนเวียน สถานะของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของอาเซียน ในปี 2563 สัดส่วนพลังงานทดแทนเมื่อเทียบกับปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ของอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 14.2 ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 23 ในปี 2568

เชียงใหม่ เริ่มแล้ว! งานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 “นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่ ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ประธานในพิธีเปิดงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 “นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2565 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันสถาปนาครบรอบ 55 ปี ของคณะเกษตรศาสตร์ และเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านเกษตรอัจฉริยะของคณะเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี นาพรหม คณบดีคณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานเอกชน และประชาชนชาวเชียงใหม่ เข้าร่วมพิธีฯ

โอกาสนี้ ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวชื่นชมยินดีกับพันธกิจที่คณะเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการ ทั้งในด้านการผลิตบัณฑิตที่มุ่งเน้นการเป็นวิทยาศาสตร์เกษตร การวิจัยค้นคว้าเพื่อสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่ และแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร การบริการวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่ชุมชน เกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการเกษตรกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ ผมเห็นว่าการจัดงานเกษตรภาคเหนือ เป็นกิจกรรมบริการวิชาการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทั้งต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมจัดงาน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และที่สำคัญคือต่อตัวของเกษตรกรโดยตรง ที่จะได้เรียนรู้และรับทราบข้อมูลข่าวสารการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย และสามารถที่จะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปพัฒนาระบบการผลิตให้ดีและมีมาตรฐาน

ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีความปลอดภัย สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Agriculture เพื่อสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรมการเกษตร มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของตลาดและประชาคมโลก ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็จะมีคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในภาพรวมต่อไป


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. North Time Thailand
Take Me Top